ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เงิน หรือครอบครัว ก็ล้วนแต่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าทางกายและใจได้ทั้งนั้น แม้ว่าความรู้สึกหมดแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากคุณรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ไม่แน่ว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้คุณรู้ เรามาดู 9 สาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย
1.ทานอาหารไม่ครบมื้อ
การอดอาหารหรือการทานอาหารไม่ครบมื้ออาจทำให้คุณได้รับแคลอรีเพื่อใช้เป็นพลังงานไม่เพียงพอ นอกจากนี้การเว้นช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไปสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ทำให้คุณไม่มีเรี่ยวแรงได้นั่นเอง ดังนั้นพยายามทานอาหารให้ครบทุกมื้อ หากเริ่มรู้สึกเหนื่อยระหว่างวัน ก็อาจทานของว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น กล้วย เนยถั่ว แครกเกอร์ธัญพืชเต็มเมล็ด โปรตีนบาร์ ผลไม้แห้ง และถั่ว
2.ภาวะขาดวิตามิน
การรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาสามารถเป็นสัญญาณของภาวะขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินดี วิตามินบี12 เหล็ก แมคนีเซียม หรือโพแทสเซียม ซึ่งการตรวจเลือดเป็นประจำสามารถช่วยหาได้ว่าร่างกายขาดสารอาหารชนิดใดค่ะ แพทย์อาจแนะนำให้คุณทานอาหารเสริม หรือทานอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อวัว หอยกาบ และตับ อาจช่วยแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนวิตามิน บี12
3.นอนไม่เพียงพอ
ถ้าคุณเป็นคนที่นอนดึกเป็นประจำ ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคุณถึงรู้สึกอ่อนเพลีย เพราะการนอนดึกสามารถส่งผลต่อระดับพลังงานในร่างกาย อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่ส่วนมากจำเป็นต้องนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน ถ้าอยากหลับให้สบายขึ้น และตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ก็ให้คุณเข้านอนเร็ว นอนให้ห้องที่มืดและเงียบ และอากาศเย็นสบาย รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่จะไปกระตุ้นร่างกายก่อนนอน เช่น ออกกำลังกายและดูโทรทัศน์ หากคุณใช้วิธีเหล่านี้แล้วแต่ก็ยังนอนไม่หลับ การไปพบแพทย์ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ค่ะ ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องทานยานอนหลับที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย
4.น้ำหนักเกินมาตรฐาน
การมีน้ำหนักเกินมาตรฐานสามารถทำให้คุณอ่อนเพลีย เพราะยิ่งมีน้ำหนักตัวมากเท่าไร ร่างกายก็จะทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้นเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินบันไดหรือทำความสะอาด อย่างไรก็ตาม หากวางแผนว่าจะลดน้ำหนัก ก็ให้เริ่มจากการทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น การเดินหรือการว่ายน้ำ และค่อย ๆ เพิ่มความหนักเมื่อร่างกายรับไหว นอกจากนี้ให้เลือกทานเป็นผลไม้ ผักสด และธัญพืชเต็มเมล็ดให้มากขึ้น และจำกัดการทานน้ำตาล จั๊งก์ฟู้ด และอาหารที่มีไขมันสูง
5.ใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง
การใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนได้ค่ะ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมทดลองที่เป็นผู้หญิงและใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่งน้อยกว่าผู้เข้าร่วมทดลองกลุ่มอื่น มีอาการอ่อนเพลียน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลวิจัยจึงช่วยสนับสุนนได้ว่า การเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกายจะช่วยให้คุณมีพลังงานมากขึ้นและกระฉับกระเฉง
6.ความเครียด
ความเครียดสามารถทำให้คุณปวดศีรษะ กล้ามเนื้อตึง กระเพาะอาหารมีปัญหา และอ่อนเพลีย เมื่อคุณเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้ แต่หากความเครียดเกิดขึ้นเรื้อรัง ก็จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย ทำให้คุณรู้สึกหมดแรงได้ในที่สุด ดังนั้นอย่าลืมหาวิธีคลายเครียดให้ตัวเอง
7.ภาวะซึมเศร้า
เมื่อคุณตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า อาการหมดแรงและเหนื่อยล้าก็จะตามมาค่ะ หากพบว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้หาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งแพทย์อาจจ่ายยาต้านเศร้าหรือยาต้านความวิตกกังวล หรือบำบัดด้วยวิธีที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy ซึ่งเป็นการรักษารูปแบบหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนความคิดด้านลบที่นำไปสู่อารมณ์ที่ไม่ดีและภาวะซึมเศร้า
8.ยา
บางครั้งการทานยาสามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา ดังนั้นหากใครที่กำลังอยู่ในช่วงทานยาบางชนิด ให้ลองอ่านฉลากยาเพื่อดูว่าอาการอ่อนเพลียเป็นผลข้างเคียงของยาหรือไม่ ในกรณีที่เป็นเช่นนี้ ก็ให้ลองปรึกษาแพทย์ เพราะเขาอาจจ่ายยาชนิดอื่นให้แทน หรือลดปริมาณยา
9.โรคเบาหวาน
การเกิดความรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาสามารถเป็นอาการของโรคเบาหวาน เมื่อคุณเป็นโรคนี้ ร่างกายจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งสามารถส่งผลต่อสมาธิ และทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยและหงุดหงิดได้นั่นเอง นอกจากนี้การเป็นบางโรคก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า เช่น โรคหัวใจและโรคมะเร็ง ดังนั้นอย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์หากอาการเหนื่อยล้ายังไม่ดีขึ้น